รู้ก่อนเลือก ลำโพงมอนิเตอร์ | Studio Monitor
การมิกซ์เสียงโดยใช้ลำโพงที่ไม่ให้การตอบสนองของความถี่ที่เที่ยงตรงก็เหมือนกับการพยายามขับรถโดยที่กระจกหน้ารถยังสกปรกอยู่ สีต่างๆ จะมีเฉดสีที่ไม่ถูกต้อง มองไม่เห็นรายละเอียดต่างๆ บนถนนหนทาง และจุดบอดจะถูกขยายให้เกินจริง การตอบสนองของความถี่ที่แฟลต (Flat) จะช่วยให้คุณได้ยินสิ่งที่บันทึกไว้ได้เที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น
ในอดีตมีลำโพงมอนิเตอร์ในราคาไม่แพงมากมายที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้เพลงน่าฟังมากยิ่งขึ้น ซึ่งหมายความว่าลำโพงเหล่านี้จะเพิ่มหรือตัดความถี่บางย่านความถี่เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ของเสียงที่ไพเราะยิ่งขึ้น ข่าวดีก็คือในปัจจุบันมีลำโพงมอนิเตอร์ราคาไม่แพงจำนวนมากที่ให้ย่านความถี่เสียงที่แฟลต 'Flat'
ข้อพิจารณาสำคัญอันดับแรกในการเลือกลำโพงมอนิเตอร์คือสภาพแวดล้อมในการมิกซ์เสียงของคุณ เป็นที่น่าเสียดายว่า สำหรับเจ้าของห้องสตูดิโอบันทึกเสียงจำนวนมาก สิ่งนี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ
- ห้องของคุณใหญ่แค่ไหน? หากคุณทำงานอยู่ในห้องเล็กๆ ลำโพงมอนิเตอร์ที่มีวูฟเฟอร์ขนาด 8 นิ้ว อาจมีกำลังขับมากเกินกว่าพื้นที่ และในทางกลับกัน หากคุณมีห้องขนาดใหญ่ คุณควรใช้ลำโพงที่ใหญ่ขึ้นเพื่อที่คุณจะได้ใช้งานลำโพงมอนิเตอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- คุณอยู่ใกล้กับเพื่อนบ้านของคุณแค่ไหน? หากคุณมิกซ์เสียงอยู่ในอพาร์ตเมนต์ คุณอาจจะต้องการลำโพงขนาดเล็กที่ให้เสียงดีเยี่ยมในระดับเสียงที่ไม่ดังจนเกินไป เช่น Presonus Eris E5 หรือ Eris E44
เมื่อคุณประเมินสภาพแวดล้อมในการฟังของคุณแล้ว ให้ลองไปทดสอบเสียงของลำโพงที่คุณจะเลือกซื้อ และอย่าลืมนำแนวเพลงที่มีการมิกซ์เสียงที่ดีไปให้ครบถ้วน โดยเป็นแนวเพลงที่สอดคล้องกับเพลงที่คุณจะมิกซ์ในลำโพงมอนิเตอร์ใหม่ แนะนำว่าอย่าใช้ไฟล์เสียงที่บีบอัดอย่าง MP3 เนื่องจากมีเสียงที่แตกและแข้งกระด้างไปทดสอบในลำโพงที่มีความเที่ยงตรงสูง
องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการฟัง
- Bass response (การตอบสนองของเสียงเบส): ลำโพงมอนิเตอร์ที่ออกแบบมาอย่างดีจะให้เสียงเบสที่หนักแน่นและไพเราะ หากคุณฟังแล้วคุณไม่ได้ยินโน้ต ให้คุณใช้ “ความรู้สึก” แทน วิธีที่อาจจะดีที่สุดคือไปลองลำโพงรุ่นอื่นแทน
- Mid-frequency response (การตอบสนองของย่านความถี่เสียงกลาง): เสียงลำโพงมอนิเตอร์ในสตูดิโอที่ดีควรจะมีเสียงกลางที่สม่ำเสมอ นี่เป็นสิ่งสำคัญเพราะเสียงร้องและเครื่องดนตรีส่วนใหญ่จะอยู่ในย่านเสียงกลาง พิจารณาให้แน่ใจว่าคุณได้ยินเสียงกลองสแนร์, เสียงร้องและเสียงกีตาร์ได้อย่างชัดเจน
- High-frequency response (การตอบสนองของย่านความถี่เสียงสูง): ฉาบและไฮแฮทมีความคมชัดและชัดเจนไหม? ลำโพงสตูดิโอที่ยอดเยี่ยมจะให้ย่านเสียงสูงที่คมชัด ไม่รุนแรงบาดหู คุณควรจะได้ยินเสียงก้องของเสียงรีเวิร์บ และ “ลมหายใจ” ในเสียงร้องด้วย
- Linear frequency response (การตอบสนองของความถี่ที่เป็นเส้นตรง): เครื่องดนตรีบางชิ้นชัดกว่าเครื่องดนตรีชิ้นอื่นหรือไม่? เสียงร้องนั้นหายไประหว่างการไล่เสียงไปตามโน้ตแต่ละตัวหรือเปล่า? ดังนั้นลำโพงที่มีความถี่ที่เป็นเส้นตรงและมีความราบรื่นสม่ำเสมอตลอดช่วงการบันทึกเสียงจะช่วยให้มั่นใจได้ว่ามิกซ์ของคุณจะออกมาดี ไม่ว่าจะเปิดมิกซ์ในสถานที่ไหน หรือลำโพงตู้ไหนก็ตาม
- Stereo image: กระบวนการในการวางตำแหน่งเสียงภายในมิกซ์ของคุณ หรือที่เราได้ยินในเพลง เช่นเพลงที่มีการแพน (Pan) กีตาร์อยู่ทางซ้าย เสียงเบสอยู่ขวา หรือบรรยากาศเสียง (Room) ของสถานที่ๆ คุณทำการบันทึกเสียง เมื่อคุณมิกซ์เสียงในแบบสเตอริโอ คุณต้องการลำโพงมอนิเตอร์ที่ให้เสียงสเตอริโอที่กว้าง ยิ่งการสร้างพื้นที่บนลำโพงมอนิเตอร์ของคุณดีเท่าไร การแยกส่วนประกอบต่างๆ ในมิกซ์ของคุณก็จะง่ายมากยิ่งขึ้นเท่านั้น
สิ่งสุดท้ายที่สำคัญที่สุด คือรสนิยมส่วนตัวของคุณจะเป็นปัจจัยขั้นสุดท้ายเสมอ ไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิด คุณอาจชอบย่านความถี่เสียงสูงของลำโพงมอนิเตอร์คู่นี้ และมิกซ์เสียงออกมาได้ดี ในขณะที่คนอื่นอาจรู้สึกว่าย่านความความถี่เสียงสูงนั้นแหลมกระด้าง คุณควรเลือกลำโพงมอนิเตอร์ที่เหมาะกับห้องของคุณ แนวดนตรีที่คุณเล่น และวิธีการมิกซ์เสียงของคุณ เชื่อในสิ่งที่หูของคุณได้ยิน